ผวา สึนามิ หลัง ทะเลสาบสงขลา น้ำลดฮวบ ล่าสุด ชี้แจงแล้ว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ - Thai News

ผวา สึนามิ หลัง ทะเลสาบสงขลา น้ำลดฮวบ ล่าสุด ชี้แจงแล้ว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

เพจเฟซบุ๊ก Pr.Songkhla ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า

อย่าตื่นตระหนก ทะเลสาบสงขลาน้ำลดฮวบ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทุกอย่างยังปกติ ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ยืนยันไม่เกี่ยวสึนามิ ย้ำอ่าวไทยไม่มีสึนามิ

วันที่ 22 กันยายน 2567 จากกรณีมีประชาชนเเชร์กันว่อนเน็ตว่า เหตุการณ์น้ำลงในทะเลสาบสงขลา จนสังเกตเห็นสันดอนดินหลายจุด อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยสึนามิ จนชาวสงขลาเเตกตื่น ลือกันไปต่างๆ นานานั้น

ล่าสุด ดร.กมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้เปิดเผยกับทีมข่าวสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ซึ่งระดับน้ำทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาในรอบวัน เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า น้ำขึ้น น้ำลง (tide) เกิดจากผลของแรงไทดัล (tidal force) ซึ่งเป็นแรงที่เกิดขึ้นจากแรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงจันทร์ การที่โลกหมุนรอบตัวเอง

ฝั่งที่หันหน้าเข้าหาดวงจันทร์ก็จะถูกอิทธิพลแรงดึงดูดจากดวงจันทร์ ทำให้น้ำในมหาสมุทรไหลเข้ามารวมกันในบริเวณนั้น นั่นก็คือปรากฏการณ์น้ำขึ้น และบริเวณรอบข้างระดับน้ำในมหาสมุทรก็จะลดลง หรือที่เราเรียกว่าน้ำลง น้ำขึ้นน้ำลงเกิดจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ถึงแม้ว่าดาวอาทิตย์จะมีมวล 27 ล้านเท่าของดวงจันทร์ แต่ดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากโลก 93 ล้านไมล์ ส่วนดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลกนั้น อยู่ห่างจากโลกเพียง 240,000 ไมล์ ดังนั้น ดวงจันทร์ จึงส่งแรงดึงดูดมายังโลกมากกว่าดวงอาทิตย์ และน้ำที่เกิดจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์

ด้านผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่ 1 สงขลา สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลน้ำกร่อย มีลักษณะร่องน้ำที่ตื้นเขิน จึงทำให้เมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำลง จะสังเกตเห็นสันดอนดินชัดเจนในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม จังหวัดสงขลาขอยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงตามธรรมชาติเท่านั้น สถานการณ์ทั่วไปยังปกติดี ยืนยันไม่เกี่ยวสึนามิ ย้ำ!! อ่าวไทยไม่มีสึนามิ วอนประชาชนอย่าเเชร์ข้อมูลบิดเบือน ที่สร้างความเข้าใจผิดเป็นเหตุให้เกิดความตื่นตระหนก และขอให้ติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *